ต้นกล้วยต้นอ้อย ในขบวนขันหมากพิธีแต่งงานไทยมีไว้เพื่ออะไรกัน

“ใครมีมะกรูดมาแลกมะนาว ใครมีลูกสาวมาแลกลูกเขย เอ้าวะเอ้าเหวย ลูกเขยกลองยาว ตะละลา หุย ฮา โห่ ฮิ้ว” เสียงแห่ ขบวนขันหมาก ดังมาโน่นแล้ว แต่เอ๊ะ! ไหนล่ะมะกรูดมะนาว เห็นก็แต่ “ต้นกล้วยต้นอ้อย” ที่สูงเด่นมาแต่ไกล เชื่อว่าหลายๆ คนคงมีคำถามว่าเหตุไฉนทำไมจึงต้องมีต้นกล้วยต้นอ้อยในขบวนขันหมาก วันนี้เราจะพาไปไขข้อข้องใจถึงความหมายและความสำคัญของต้นกล้วยต้นอ้อยในขบวนขันหมากกันนะคะ

ต้นกล้วยต้นอ้อยในขบวนขันหมากมีความหมายมงคล ต้นอ้อยหมายถึงความหวาน ส่วนต้นกล้วยหรือหน่อกล้วยหมายถึงความเจริญงอกงาม โดยต้นกล้วยต้นอ้อยที่นำมาในขบวนขันหมากนี้คู่บ่าวสาวจะต้องทำการปลูกร่วมกันเปรียบเสมือนเป็นการเสี่ยงทายอย่างหนึ่ง หากต้นกล้วยเจริญเติบโตออกดอกออกผลสมบูรณ์ ต้นอ้อยเติบโตหอมหวาน เชื่อกันว่าความรักของทั้งคู่จะเป็นไปอย่างราบรื่นสดชื่นหอมหวาน มีลูกเต็มบ้านมีหลานเต็มเมือง และฐานะทางเศรษฐกิจก็สมบูรณ์พูนสุข ดังนั้นต้นกล้วยต้นอ้อยที่นำมาใช้ในขบวนขันหมากจึงต้องขุดมาให้ติดรากหรือมีตา และเลือกเอาต้นหรือหน่อที่สมบูรณ์

นอกจากนี้ยังมีกิมมิคเล็กๆ ตามธรรมเนียมไทยเกี่ยวกับต้นกล้วยต้นอ้อยในขบวนขันหมากที่ว่า เมื่อคนของฝ่ายเจ้าบ่าวยกขบวนขันหมากมาถึงบ้านเจ้าสาวแล้ว จะไม่ยอมมอบต้นกล้วยต้นอ้อยให้โดยง่าย จะถือหรืออุ้มไว้จนกว่าจะได้น้ำมารดเพื่อความเจริญงอกงาม บางครั้งอาจใช้เป็นน้ำมนต์หรือน้ำฝนสะอาด แต่น้ำที่ถูกอกถูกใจผู้อุ้มมากที่สุดเห็นจะเป็นน้ำสุรา ดังนั้นในวันยกขบวนขันหมากบรรดาคอสุราทั้งหลายจะพากันจับจองขออาสาเป็นคนอุ้มต้นกล้วยต้นอ้อย เพราะนอกจากจะได้ของถูกอกถูกใจติดไม้ติดมือกลับบ้านแล้ว ยังได้ต่อรองหยอกเย้ากับคนของฝ่ายเจ้าสาวเป็นที่สนุกสนานอีกด้วย

ดูเรื่องราวเกี่ยวกับพิธีแต่งงานไทยเพิ่มเติมได้ที่นี่ คลิกเลย!

Recommended