พิธีแต่งงานแบบไทย เต็มไปด้วยรายละเอียดและข้าวของที่ต้องเตรียมมากมาย แพรว wedding จึงรวบรวมข้าวของสำคัญที่บ่าวสาวต้องเตรียมให้พร้อมและถูกต้องตามประเพณีมาให้ โดยแบ่งเป็นของในพิธีต่างๆ เริ่มตั้งแต่พิธีแห่ขันหมาก พิธีล้างเท้า พิธีหลั่งน้ำพระพุทธมนต์ พิธีรับไหว้ พิธีปูเตียงเรียงหมอน พร้อมแทรกความหมายมงคลของแต่ละอย่างที่บ่าวสาวควรรู้เพื่อบ่าวสาวจะได้จัดของเข้า พิธีแต่งงานแบบไทย ได้อย่างครบถ้วนไม่มีตกหล่น
1. ชุดขันหมาก ใช้ในพิธีแห่ขันหมากและรับไหว้ ซึ่งแต่โบราณนั้นหากจัดเตรียมแบบเต็มรูปแบบต้องมีทั้งขันหมากเอกและขันหมากโท แต่ด้วยกาลเวลาที่เปลี่ยนไปทำให้ชุดขันหมากถูกลดทอนจำนวนลงไปค่อนข้างมากตามขนาดพิธีและงบประมาณที่มี แต่ก็ยังคงความเป็นมงคลด้วยองค์ประกอบหลักในชุดขันหมาก ดังต่อไปนี้
พานขันหมากเอก ในพานประกอบด้วย
- พลูจีบ สื่อความหมายถึงการต้อนรับด้วยไมตรีจิต นำมาจากธรรมเนียมการต้อนรับแขกที่มาเยือนเรือนชาน ซึ่งเจ้าบ้านจะเตรียมเชี่ยนหมากที่มีหมากพลูเป็นเครื่องต้อนรับ โดยเมื่อนำมาอยู่ในพานขันหมากเอกนิยมทำเป็นพลูจีบจัดเป็นคำๆ จำนวน 9 คู่จัดวางให้ขนาดพอดีกับพาน
- ถั่ว งา ข้าวเปลือก ข้าวตอก ใส่ไว้ในถุงเงินถุงทอง โดยถั่ว งา ข้าวเปลือกเปรียบเสมือนเป็นการอวยพรให้บ่าวสาวมีความเจริญ ทรัพย์สินเพิ่มพูน หากทำการค้าใดๆ ก็ให้รุ่งเรืองด้วยดี ส่วนข้าวตอกเปรียบเสมือนการอวยพรให้ความรักของบ่าวสาวเบ่งบานเช่นเดียวกับข้าวตอก
- ดอกไม้ชื่อเป็นมงคล มักนำมาใช้โรยสินสอด ได้แก่ ดอกรัก ดอกดาวเรือง ดอกกุหลาบ และดอกบานไม่รู้โรย เปรียบเสมือนการอวยพรให้บ่าวสาวครองรักกกันมั่นคงยืนยาว และให้ชีวิตครอบครัวมีความสุข
- ใบเงิน ใบทอง ใบนาค วางเรียงหรือจัดเป็นช่อให้สวยงาม
ทั้งนี้หากมีการจัด “พานขันหมากโท” ก็จะจัดให้มี ขนาดพานที่เล็กกว่า โดยในพานบรรจุใบพลู 9 เรียง เรียงละ 9 ใบ หมากจำนวน 9 คู่ที่ไม่ต้องเจียนออกเป็นคำๆ แต่ให้ใส่ลงไปทั้งลูก โดยปาดส่วนหัวออกเล็กน้อยแล้วใช้ปูนแดงทาให้สวยงาม จากนั้นจัดวางหมากทั้งหมดเป็น 3 กระจุก ซึ่งหมายถึงครอบครัว ที่ประกอบด้วยพ่อ แม่ และลูก
2. พานแหวน
นิยมจัดทำเป็นพานขนาดเล็กพอดีกับการวางกล่องแหวน ซึ่งหากเป็นธรรมเนียมปฏิบัติแต่ดั้งเดิมจะมีเพียงแหวนที่ฝ่ายชายนำมาหมั้นฝ่ายหญิงเพียงวงเดียว ส่วนการสวมแหวนให้ฝ่ายชายเป็นการรับเอาวัฒนธรรมการแลกแหวนแต่งงานของชาวตะวันตกมาใช้ พานแหวนในปัจจุบันจึงทำขนาดใหญ่ขึ้นมาอีกนิดเพื่อวางกล่องแหวนได้สองกล่อง หรือกล่องเดียวแต่ใส่แหวนลงไป 2 วง
3. พานธูปเทียนแพ
ประกอบด้วยกระทงดอกไม้ครอบด้วยกรวยใบตอง ธูปแพไม้ระกำ 10 ดอก และเทียน 10 เล่มวางอยู่บนพาน ซึ่งจะตกแต่งสวยงามอลังการอย่างไรก็ได้ แต่ห้ามวางธูปกับเทียนสลับกันเด็ดขาด ไม่อย่างนั้นจากงานแต่งสุดมงคลจะกลายเป็นงานอวมงคลไปทันที เพราะในงานอวมงคลอย่างงานศพจะวางเทียนไว้ด้านบนตามด้วยธูป โดยธูปเทียนแพเป็นเครื่องแสดงความเคารพอย่างสูงและยังเป็นเครื่องขอขมาลาโทษต่อความผิดที่เคยกระทำมา และนี่เองก็เป็นเหตุผลที่ต้องเจาะจงว่า พานธูปเทียนนั้นเจ้าบ่าวต้องเป็นคนถือ ใครอื่นจะมาถือแทนไม่ได้ โดยในพิธีรับไหว้ซึ่งเกิดขึ้นหลังจากการสวมแหวนก็จะนำพานธูปเทียนแพที่เจ้าบ่าวถือมากับขบวนขันหมากนี้มาใช้ในพิธี
โดยพิธีรับไหว้นี้ถือเป็นการเปิดโอกาสให้บ่าวสาวได้ทำความเคารพ แนะนำตัว และฝากเนื้อฝากตัวกับครอบครัวของอีกฝ่าย ในเวลาเดียวกันก็ถือเป็นการแสดงความขอบคุณและขอขมาผู้มีพระคุณ โดยผู้ที่จะขึ้นมารับไหว้ได้ต้องเป็นผู้ที่มีอายุมากกว่าบ่าวสาว ไม่ว่าจะเป็นพ่อแม่ ปู่ย่าตายาย ญาติพี่น้อง หรือแขกผู้ใหญ่คนสำคัญที่บ่าวสาวเคารพ
4. พานต้นกล้วยต้นอ้อย
เดิมทีจะนำต้นกล้วยต้นอ้อยที่ติดรากมาเข้าพิธีแบบไม่ลงไว้ในพาน โดยนำมาเข้าในขบวนขันหมากอย่างละสองต้น แต่ปัจจุบันนิยมจัดใส่ในพานสวยงามให้เดินถือง่ายขึ้น แต่ยังคงให้ความสำคัญว่าจะต้องมีรากติดทุกต้นเพื่อบ่าวสาวนำกลับไปปลูกที่บ้านเรือนหอนั่นเอง สำหรับต้นกล้วยที่นิยมนำมาใช้ในพิธีแต่งงานคือ กล้วยน้ำว้า เพราะออกดอกออกผลง่าย เจริญเติบโตดี และเป็นกล้วยพันธุ์แข็งแรงที่ไม่ต้องดูแลมากเหมือนพันธุ์อื่นๆ เสมือนให้ชีวิตคู่ที่กำลังจะเริ่มต้นมีความสุข ความเจริญก้าวหน้า และมีลูกหลานที่สมบูรณ์แข็งแรง ส่วนต้นอ้อยที่นิยมนำมาใช้คืออ้อยแดง ซึ่งหมายถึงให้ชีวิตคู่มีแต่ความหอมหวานและราบรื่นไปด้วยดี
5. พานขนมมงคล 9 อย่าง ประกอบด้วย
- ทองหยิบ หมายถึง ความมั่งคั่งร่ำรวย ให้ชีวิตคู่รุ่งเรือง หยิบจับงานการก็เป็นเงินเป็นทอง
- ทองหยอด หมายถึง มีเงินมีทองใช้จ่ายอย่างไม่รู้หมดสิ้นประดุจให้ทองคำ
- ฝอยทอง หมายถึง มีชีวิตคู่ที่ยืนยาว โดยถือเคล็ดว่าห้ามตัดขนมให้สั้นเพื่อที่คู่บ่าวสาวจะได้ครองคู่และรักกันอย่างยืนยาวตลอดไป
- ขนมชั้น หมายถึง ความเจริญก้าวหน้า ได้เลื่อนชั้นเลื่อนยศถาบรรดาศักดิ์ให้สูงยิ่งๆ ขึ้นไป
- ทองเอก หมายถึง เป็นที่หนึ่ง เป็นการอวยพรให้บ่าวสาวเจริญในหน้าที่การงาน
- เม็ดขนุน หมายถึง มีคนสนับสนุนไม่ขาด คู่บ่าวสาวได้รับการสนับสนุนในการดำเนินชีวิตและหน้าที่การงานหรือกิจการต่างๆ ที่ได้กระทำอยู่
- จ่ามงกุฎ หมายถึง มีเกียรติยศที่สูงส่ง เป็นการแสดงความยินดีและอวยพรให้คู่บ่าวสาวเจริญก้าวหน้า เพียบพร้อมด้วยยศถาบรรดาศักดิ์
- ถ้วยฟู หมายถึง ความเจริญรุ่งเรือง เฟื่องฟู ให้ชีวิตคู่และครอบครัวมีแต่ความเจริญ
เสน่ห์จันทน์ หมายถึง มีเสน่ห์คนรักคนหลง ดังเสน่ห์ของผลจันทน์
6. ชุดล้างเท้า ใช้ในพิธีล้างเท้า พิธีนี้มีมาแต่สมัยโบราณเมื่อครั้งที่ยังไม่มีการสวมรองเท้าเช่นทุกวันนี้ ซึ่งตามบ้านเรือนทุกหลังจะมีตุ่มน้ำที่เจ้าบ้านเตรียมไว้ให้แขกที่มาเยือนล้างเท้าก่อนขึ้นเรือน เมื่อมีการจัดพิธีแต่งงานจึงมีการแทรกพิธีการล้างเท้านี้เข้ามาด้วย โดยปัจจุบันเมื่อมีการใส่รองเท้าจึงปรับเปลี่ยนมาเป็นการใช้ก้านมะยม 9 มัดจุ่มน้ำในขันที่เตรียมไว้แล้วพรมบนรองเท้าเจ้าบ่าว ไม่ได้ล้างเท้าจริงๆ เหมือนสมัยก่อน โดยคนที่จะมาทำหน้าที่ล้างเท้าให้เจ้าบ่าวต้องเป็นเด็กที่อายุน้อยกว่าบ่าว สาว เมื่อล้างเสร็จเจ้าบ่าวจะต้องให้ซองเงินหรือสิ่งของเล็กๆ น้อยๆ เป็นการตอบแทน
7. ชุดหอยสังข์ ใช้ในพิธีหลั่งน้ำพระพุทธมนต์หรือที่เรียกกันว่าพิธีรดน้ำสังข์ ประกอบด้วยพวงมาลัยบ่าวสาวซึ่งนิยมใช้เป็นมาลัยสองชาย โดยมีความเชื่อว่าให้ใช้มาลัยบ่าวสาวคู่เดียวกันคล้องคอทั้งพิธีแต่งงานช่วงเช้าและช่วงเย็น จะได้ใช้ชีวิตร่วมกันอย่างราบรื่นไม่มีการเปลี่ยนคู่ ส่วนในชุดหอยสังข์สำหรับทำพิธีนั้นประกอบด้วยแป้งเจิม มงคลแฝด และน้ำมนต์สำหรับใช้ในการรดน้ำ ซึ่งทั้ง 3 สิ่งนี้นิยมให้พระที่นับถือเป็นผู้ทำพิธีให้ก่อนนำมาใช้ในพิธีจริง
องค์ประกอบสำคัญอีกอย่างหนึ่งที่ถือว่าขาดไม่ได้คือ หอยสังข์ ซึ่งมีความเชื่อว่าคือ 1 ในของวิเศษ 14 อย่างที่เกิดจากการกวนเกษียรสมุทรของเหล่าเทวดาและอสูร และหอยสังข์ยังเป็นหนึ่งในศัสตราวุธที่พระนารายณ์ทรงถือ นอกจากนี้ความที่เปลือกหอยสังข์มีสีขาวบริสุทธิ์และมีลักษณะเวียนขวาอันเป็นทิศมงคล จึงมีความเชื่อว่าเป็นของศักดิ์สิทธิ์ น้ำที่ไหลออกมาจะเป็นน้ำมงคลเหมาะแก่การใช้รดน้ำในงานมงคลประเภทต่างๆ โดยเฉพาะอย่างย่ิ่งงานวิวาห์ที่นิยมใช้หอยสังข์ในการรดน้ำสังข์ให้แก่คู่บ่าวสาวเพื่อความเป็นสิริมงคล และเพื่อเป็นการเริ่มต้นชีวิตคู่ที่ดี
8. ชุดส่งตัว ใช้ในพิธีปูเตียงเรียงหมอนจะเชิญคู่สามีภรรยาที่ผ่านการใช้ชีวิตครอบครัวร่วมกันมาอย่างยาวนาน อบอุ่นและสมบูรณ์แบบมาทำพิธี เพื่อเป็นเคล็ดให้บ่าวสาวใช้ชีวิตคู่ได้ดีเช่นเดียวกัน โดยมีของประกอบพิธีดังนี้
- หินบดยา 1 ก้อน หมายถึง คู่ชีวิตมีจิตใจหนักแน่น
- แมวคราว (แมวตัวผู้ที่อายุมากแล้ว) 1 ตัว หมายถึง อยู่กับเหย้าเฝ้ากับเรือน ปัจจุบันใช้รูปปั้นแมวเพื่อความสะดวก
- ไก่ขาว 1 ตัว หมายถึง ความขยันหมั่นเพียร
- ไม้เท้า 1 อัน หมายถึง ครองรักกันจนแก่เฒ่า
- ฟักเขียว 1 ลูก หมายถึง ให้อยู่กันอย่างร่มเย็นเป็นสุข
- ถั่วและงา อย่างละ 1 ถุง หมายถึง ความเจริญงอกงาม
- ภาชนะใส่น้ำ 1 ที่ หมายถึง ความสามัคคีกลมเกลียว
>> อ่านเรื่องราวเกี่ยวกับพิธีแต่งงานไทยเพิ่มเติมได้ที่นี่ คลิกเลย <<
ขอบคุณพานขันหมาก : ร้านบายศรีวิจิตร