“ใจพร้อมจะแต่งงาน เงินในกระเป๋าก็ต้องพร้อมด้วย” แต่ปัญหาหนักอกที่หนุ่มๆ ทั้งหลายต้องเผชิญในช่วงที่คิดจะขอสาวแต่งงานคือ ความไม่แน่ใจว่าเงินที่มีอยู่จะพอหรือเปล่า แล้วจะมีช่องทางไหนบ้างที่จะทำให้เป้าหมายการเก็บเงินเพื่อ เตรียมแต่งงาน บรรลุเป้าประสงค์
แพรว wedding ไม่รอช้าเดินทางไปพบกับคุณฉัตรพงศ์ วัฒนจิรัฏฐ์ ผู้บริหารแห่ง K-Expert เพื่อขอคำแนะนำเจ๋งๆ ภายใต้โจทย์ที่ว่า จะมีวิธีไหนบ้างที่จะทำให้หนุ่มๆ สามารถเก็บเงินเพื่อเป็นต้นทุนในการจัดงานแต่งงานตามระยะเวลาและงบประมาณที่กำหนด
กำหนดเป้าหมายให้ชัดเจน
คำแนะนำแรกจาก Expert ของเราคือ หนุ่มๆ ต้องกำหนดเป้าหมายให้ชัดเจนก่อนว่า จะเก็บเงินเป็นต้นทุนในการจัดงานแต่งงานเท่าไหร่ หรือเรียกง่ายๆ คือ คุณกำหนดงบประมาณในการจัดงานแต่งงานอยู่ที่เท่าไหร่ ซึ่งในเบื้องต้นที่คุณจะรู้คร่าวๆ ว่าเก็บเท่าไหร่ถึงจะโอเคขึ้นอยู่กับ 2 กรณีนี้ค่ะ
กรณีแรกคือ คุณและเธอเคยคุยกันมาคร่าวๆ ว่าถ้าวันหนึ่งข้างหน้าคิดที่จะลงเอยกัน มีฝันที่จะจัดงานแต่งงานในรูปแบบไหน เชิญแขกเท่าไหร่ งานใหญ่งานเล็ก รายละเอียดงานมีจิปาถะยิบย่อยอะไรบ้าง ฯลฯ คุณก็อาจกะเกณฑ์เรื่องงบประมาณในการจัดงานได้ง่ายขึ้น แต่ถ้าเป็นในกรณีที่สอง ซึ่งคุณเองก็ไม่เคยคุยกันมาก่อน ได้แต่คิดอยู่แต่ฝ่ายเดียวว่าคนนี้แหละแม่ของลูก คุณก็ต้องกะเอาเองก่อนคร่าวๆ แล้วกำหนดเงินเป้าหมายที่คุณจะเก็บไว้เป็นต้นทุนในการจัดงานแต่งงาน แล้วหลังจากที่ขอเธอแต่งงานเรียบร้อยแล้ว จึงมานั่งคุยกันอีกครั้งอย่างชัดเจน
เมื่อได้เป้าหมายเรื่องงบประมาณจัดงานแต่งงานมาแล้ว สิ่งที่คุณจะต้องวางเป้าหมายอย่างชัดเจน เรื่องต่อไป คือวันปฎิบัติการค่ะ นั่นคือ คุณจะไปขอเธอแต่งงานวันไหน เพราะเท่ากับว่า ช่วงเวลาก่อนหน้านั้น คุณมีเวลาเก็บเงินอย่างจริงจังโดยที่ทำหน้าที่เก็บเพียงอย่างเดียว แต่เมื่อไหร่ที่คุณเอ่ยปากขอเธอแต่งงานเรียบร้อยแล้ว และจูงมือกันไปดูฤกษ์ยามกำหนดวันชัดเจนแล้ว ค่าใช้จ่ายจะโผล่มาตามทางทันที ไม่ว่าจะเป็นค่าการ์ดเชิญ ของชำร่วย ค่ามัดจำนั่นนี่ ฯลฯ ซึ่งนั่นมีผลต่อการเก็บเงินของคุณที่จะต้องเปลี่ยนจากการเก็บเงินอย่างเดียวมาเป็นเก็บไปจ่ายไป
และขั้นสุดท้ายในหัวข้อกำหนดเป้าหมายคือ เงินเก็บที่ว่านี้จะเก็บไว้ใช้เพื่อจัดงานแต่งงานในส่วนไหนบ้าง เช่น แค่งานเลี้ยงอย่างเดียว หรือค่าเสื้อผ้าหน้าผม และอื่นๆ ในงาน เงินที่ว่ารวมสินสอดด้วยหรือเปล่า อย่าลืมเด็ดขาดที่จะคำนวณสิ่งเหล่านี้ไปด้วยล่ะ
มาดูชีวิตจริงก่อนวางแผนเก็บจริงจัง
คำแนะนำข้อต่อมาจาก Expert ของเราคือ หันมามองดูเงินในกระเป๋าว่า เงินเก็บของคุณที่สะสมมาก่อนหน้าที่จะคิดแต่งงานมีอยู่เท่าไหร่ แล้วจะนำมาเป็นส่วนหนึ่งในงบประมาณจัดงานแต่งงานเท่าไหร่ โดยต้องไม่ลืมที่จะหักเงินสำรองฉุกเฉินออกไปก่อน ซึ่งเงินฉุกเฉินที่ว่านี้ ควรอยู่ที่ 6 เท่าของเงินเดือน และเมื่อหักออกไปแล้วก็แยกเก็บไว้โดยห้ามไปแตะต้องเด็ดขาด จำไว้ให้มั่นค่ะว่า เงินนี้สำหรับเหตุฉุกเฉินไม่ว่าจะเป็น ไม่สบาย รถเสียหรืออะไรก็ตามแต่ที่เรียกว่า ฉุกเฉินในยามที่ชีวิตจำเป็นจริงๆ
สูตรง่ายๆ คือ : เงินเก็บที่มี – เงินฉุกเฉินที่กันไว้ = เงินเก็บที่นำมาเป็นเงินแต่งงาน
จากนั้นมาเริ่มคำนวณค่าใช้จ่ายประจำเดือนกันก่อนเพื่อมองหาเงินที่สามารถเก็บไว้ โดยเอาเงินรายรับทั้งหมดมาบวกกัน ซึ่งขอแนะนำว่า ให้นำเงินส่วนที่เรียกว่ารายได้ประจำมาคำนวณนะคะ พวกเงินจ๊อบเล็กๆ น้อยๆ ที่งอกเข้ามา เป็นเหมือนกำไรระหว่างทาง ถ้าเขาจ้างคุณแล้วแน่นอน มีกำหนดจ่ายเงินแล้วชัวร์จะนำมาบวกรวมก็ได้ไม่ว่ากัน แต่ถ้าเป็นเงินที่ใจคุณเองก็ไม่ชัวร์ว่าจะจ่ายมาในช่วงก่อนแต่งงานไหม อย่านำมาคิดค่ะ
ที่สำคัญ เมื่อได้เงินรายรับแล้วก็หักค่าใช้จ่ายประจำเดือนไปก่อนเลยค่ะ ไม่ว่าจะเป็นค่ากินประจำวัน ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าโทรศัพท์ เงินเดือนให้พ่อให้แม่ เบี้ยประกันหักรายเดือน เงินผ่อนนั่นนี่ ทีนี้คุณก็จะเหลือเงินที่จะนำมาคิดคำนวณเป็นเงินเก็บแล้วค่ะ
สูตรง่ายๆ คือ : เงินรายได้ทุกทางที่เป็นรายได้ประจำทุกเดือน-ค่าใช้จ่ายประจำเดือน
= เงินเดือนส่วนที่เหลือแต่ละเดือนที่สามารถนำมาเก็บเพื่อเป็นต้นทุนจัดงานแต่งงาน
เริ่มลองคำนวนดูได้เลย
เริ่มกันด้วยสูตรง่ายๆ คือ นำตัวเลขเงินงบประมาณในการจัดงานแต่งที่ต้องการ – เงินเก็บที่นำมาเป็นเงินแต่งงาน = เงินส่วนที่ต้องเก็บเพิ่ม จากนั้นลองดูระยะเวลาที่คุณกำหนดไว้ก่อนจะถึงวันขอสาวแต่งงาน เช่นในกรณีนี้เราตั้งโจทย์ไว้ว่า มีเวลา 10 เดือนก่อนขอเธอแต่งงาน นั่นแปลว่าให้คุณนำ เงินส่วนที่ต้องเก็บเพิ่มมา ÷ 10 เดือน = จำนวนเงินต่อเดือนที่คุณจะต้องเก็บให้ได้ใน 10 เดือนข้างหน้า
หลังจากที่ได้ยอดเงินที่ต้องเก็บมาแล้วต่อเดือน ก็ถึงเวลาที่คุณต้องพิจารณาแล้วค่ะว่า เมื่อนำเงินส่วนนี้มาเทียบกับเงินเดือนส่วนที่เหลือแต่ละเดือนที่สามารถนำมาเก็บเพื่อเป็นต้นทุนจัดงานแต่งงาน ว่าสมดุลกันไหม ถ้าเงินเก็บต่อเดือนยังน้อยว่าเงินที่ต้องเก็บให้ได้เฉลี่ยรายเดือน คุณอาจต้องคุยกันว่า จะลดสเกลงานหรือเลื่อนวันแต่งงานไปอีกนิด เพื่อให้มีเวลาเก็บเงินมาขึ้นอีกหน่อย แต่ถ้าสัดส่วนเงินก้อนนี้ลงตัวก็เดินหน้าไปต่อได้เลยค่ะ
เก็บแบบนี้โอเค
Expert ของเราแนะนำว่า การเก็บเงินให้อยู่และเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้มีหัวใจสำคัญที่วินัยในการเก็บของแต่ละคนอยู่แล้ว แต่ถ้าอยากชัวร์และมีตัวช่วยที่จะทำให้คุณมีวินัยในการออมมากขึ้น อาจเลือกใช้วิธีเก็บเงินดังต่อไปนี้ค่ะ
เก็บเงินไว้ใน กองทุนรวมตลาดเงิน โดยเลือกกองทุนรวมตราสารหนี้ระยะสั้นที่มีนโยบายความเสี่ยงระดับต่ำที่สุด เมื่อได้เงินเดือนมาให้เอามาฝากไว้กับสิ่งเหล่านี้ โดยใช้บริการของธนาคารที่มีการหักเก็บ เพราะถ้าออมไว้ในเงินฝากออมทรัพย์อาจจะเผลอเอาเงินนั้นออกมาใช้นั่นเอง
แนะนำให้ใช้บริการหักเงินฝากออมทรัพย์มาลงทุนในกองทุนรวมตราสารหนี้ระยะสั้นอย่างสม่ำเสมอทุกเดือน แม้กองทุนประเภทนี้อาจไม่ได้ให้ผลตอบแทนมากนัก แต่วิธีนี้ยังทำให้คุณรู้สึกว่าต้องมีนัดในการส่งเงินมาไว้ในบัญชีนี้ทุกเดือน
เก็บแบบนี้ไม่โอเค…อย่าทำเด็ดขาด
หลายคนที่มีความรู้สึกว่า กลัวจะเก็บเงินได้ไม่ทันวันที่จะขอเธอแต่งงานหรือแม้แต่เมื่อมีเวลาหลังจากขอไปแล้วอีกหน่อยก็ยังกลัวว่า จะเก็บเงินได้ไม่ตามเป้า อาจเลือกเดินทางผิดซึ่งคิดเอาเองว่าเป็นวิธีลัดในการเพิ่มทุนแต่งงานได้เร็วขึ้น Expert ขอเราเตือนมาเลยว่า อย่าได้คิดแบบนั้นเชียว เพราะเสียหายมาหลายรายแล้ว ไม่ว่าจะเป็น การเล่นหุ้น ที่ถือว่าเป็นการลงทุนที่มีความเสี่ยงสูงเหลือเกิน ยิ่งถ้าคุณเป็นมือใหม่หัดเล่นด้วยแล้ว ขอให้สงบใจไว้และอย่าเสี่ยง!
อีกกรณีที่เคยเกิดขึ้นคือ การเอาเงินต้นทุนที่มีไปลงทุนเพื่อหวังกำไลลมๆ แล้งๆ ที่ทำนายอนาคตไม่ได้ อย่างการนำเงินไปซื้อไปจองคอนโดเพื่อหวังเก็งกำไรขายใบจองในอนาคต เพราะแนวโน้มการตลาดผันผวน ฉะนั้น อย่าเสี่ยง!
และสุดท้ายที่ขอบอกว่า สำคัญมากๆ คือการสร้างภาระเพิ่มในระหว่างทางที่กำลังเก็บเงินแต่งงานหรืออยู่ในช่วงเตรียมงานแต่ง ไม่ว่าจะเป็นการกู้ร่วมเพื่อดาวน์บ้าน ดาวน์รถ ซื้อคอนโด จงชะลอไว้ก่อนนะคะ และคิดถึงสิ่งที่สำคัญมากที่สุดในตอนนั้น นั่นคือ เป้าหมายที่จะเก็บเงินแต่งงาน แล้งวรับรองได้ว่า คุณจะสามารถเดินไปยังเป้าหมายที่วางไว้ได้อย่างไม่สะดุด
cr : K-Expert เพื่อปรึกษาหรือสอบถามด้านการเงินที่ [email protected]
ภาพ : stringmynaijawedding.com