พิธีแต่งงานชาวเหนือ อีกหนึ่งพิธีแต่งงานที่เต็มไปด้วยความเป็นสิริมงคล

ตามไปส่อง พิธีต่างๆ ของ พิธีแต่งงานชาวเหนือ กันเถอะเจ้า

เมื่อพูดถึง พิธีแต่งงานชาวเหนือ สิ่งที่หลายคนนึกถึงคงไม่พ้นความลุมุนนุ่มนวลของน้องนางหน้าขาวว่าที่เจ้าสาวกับความสวยงามสุดวิจิตรของบรรดาข้าวของเครื่องใช้ในพิธี แต่สิ่งที่น่าสนใจไม่แพ้กันได้แก่ รายละเอียดในพิธีที่โดดเด่นไม่ซ้ำใคร แถมยังบ่งบอกถึงอัตลักษณ์ชาวเหนือได้ดีไม่มีที่ติ

ซึ่งปัจจุบันพิธีแต่งงานแบบล้านนา ได้มีการประยุกต์ผสมผสานวัฒนธรรมการแต่งงานแบบภาคกลางเข้ามาร่วมด้วย โดยพิธีการแต่งงานจะนิยมจัดที่บ้านของฝ่ายหญิง เนื่องจากธรรมเนียมล้านนานิยมให้ผู้ชายไปอยู่กับผู้หญิงที่บ้านของพ่อแม่ฝ่ายหญิง ดังนั้นเมื่อรักใคร่ชอบพอกัน และมีการหมั้นหมายกันไว้แล้ว ฝ่ายชายจะหาฤกษ์งามยามดีเพื่อจัดพิธีแต่งงานต่อไป

พิธีขอเขย

แต่หากคุณคิดว่า พิธีที่ว่าจะเริ่มด้วยฝ่ายชายยกขบวนขันหมากมาที่บ้านฝ่ายหญิง เราขอให้คิดใหม่ เพราะหลักปฏิบัติของคู่รักล้านนาแต่เดิมนั้น ในเช้าวันแต่งงานเมื่อทุกอย่างเป็นไปตามกำหนด ผู้ใหญ่ฝ่ายหญิงจะเดินทางไปยังบ้านฝ่ายชายพร้อมพานดอกไม้ธูปเทียนเพื่อทำการ “ขอเขย” ซึ่งก็คือการพูดเชิญผู้ใหญ่ฝ่ายชายให้นำตัวเจ้าบ่าวและญาติพี่น้องแห่ขันหมากมายังบ้านฝ่ายหญิงให้ทันตามฤกษ์ที่ได้ตกลงกันไว้ แล้วจึงดำเนินพิธีการต่อไป

ขบวนขันหมาก

เมื่อถึงวันแต่งงาน เจ้าบ่าวจะนำญาติพี่น้องพร้อมขบวนแห่บายศรีที่มีขันดอกไม้หรือ “ขันอัญเชิญ” พานใส่ขันหมากเอก พร้อมพานใส่ของกำนัลเล็กๆ น้อยๆ ที่เรียกว่า “ขันหมากรอง” ที่บรรจุหมาก ใบเงิน ใบทอง ใบนาก และถุงข้าวเปลือก ข้าว ถั่ว งา ส่วนเพื่อนๆ ในขบวนถือพานใส่เสื้อผ้า ถุง และดาบเพื่อแสดงฐานะของเจ้าบ่าว (ส่วนพานบานศรีนั้นอยู่ที่ว่าจะให้ใครเตรียม บางคู่ให้เจ้าบ่าวนำมาพร้อมขบวน บางบ้านเจ้าสาวจะเตรียมไว้ที่บ้านเจ้าสาวก็ไม่ผิด)

เมื่อขบวนมาถึงบ้านเจ้าสาว เจ้าบ่าวจะต้องต่ายค่าผ่านประตูให้กับขบวนกั้นประตูเงินประตูทองที่ญาติเจ้าสาวเตรียมมาต้อนรับ หลังจากผ่านด่านครบแล้ว เจ้าบ่าวจะเข้าไปมอบเงินค่าน้ำนมให้กับคุณแม่ของเจ้าสาวเพื่อถือเป็นการตอบแทนพระคุณครอบครัวที่ได้เลี้ยงดูเจ้าสาวมาเป็นอย่างดี จากนั้นจึงเข้าไปรับตัวเจ้าสาวที่รออยู่ในห้องเก็บตัว (บางบ้านจะให้เจ้าสาวออกมารอรับเจาบ่าวด้วยตั้งแต่แรก แต่จะให้เจ้าสาวยืนรออยู่หลังประตูสุดท้าย เมื่อผ่านประตูมาจนครบจึงสามารถเดินเคียงข้างกันเข้าสู่บริเวณที่ประกอบพิธี) จากนั้นบ่าวสาวจะเข้าสู่พิธีแต่งงานที่เรียกว่า พิธีเรียกขวัญ และผูกข้อมือบ่าวสาว

พิธีเรียกขวัญ

เมื่อเข้าสู่บริเวณประกอบพิธี เจ้าบ่าวจะนั่งทางขวา เจ้าสาวนั่งทางซ้าย จากนั้นผู้ประกอบพิธี (อาจเป็นอาจารย์ปู่ที่นับถือหรือผู้เฒ่าผู้แก่คนสำคัญในบ้าน หรือหมู่บ้านก็ได้) เพื่อเป็นผู้ทำ พิธีเรียกขวัญ ให้กับบ่าวสาว โดยจะเอ่ยเรียกขวัญด้วยภาษาล้านนาที่มีทำนองไพเราะอ่อนหวาน มีความหมายว่าให้ทั้งคู่รักกันยืนยาวชั่วชีวิต ขณะเดียวกันก็จะแทรกด้วยการเตือยสติบ่าวสาวว่า กำลังจะเข้าสู่ช่วงเปลี่ยนผ่านของชีวิตจากหนุ่มสาววัยรุ่นสู่ความเป็นพ่อเรือนแม่เรือนที่จะต้องครองคู่กันอย่างมีสติ

ลำดับต่อไปคือ พิธีปัดเคราะห์ ซึ่งทำเพื่อเอาเคล็ดให้บ่าวสาวอยู่ด้วยกันอย่างมีความสุข ปราศจากโรคภัย และอุปสรรคทั้งปวง ก่อนจะให้ญาติผู้ใหญ่และพ่อแม่เจ้าสาวผูกข้อมืออวยพรคู่บ่าวสาว ตามด้วยญาติผู้ใหญ่และพ่อแม่เจ้าบ่าว ปิดท้ายด้วยญาติสนิทมิตรสหายของทั้งสองฝ่าย

พิธีแต่งงานชาวเหนือ

พิธีผูกข้อมือ

การผูกข้อมือ จะใช้ฝ้ายดิบหรือฝ้ายไหมผูกที่ข้อมือของบ่าวสาว โดยเจ้าสาวผูกที่ข้อมือซ้าย เจ้าบ่าวผูกที่มือขวา ระหว่างที่ผูกข้อมือก็จะต้องกล่าวคำอวยพรให้แก่บ่าวสาว แล้วจึงมอบซองเงินให้กับคู่บ่าวสาวใส่ในขันสลุง หลังจากนั้นผู้ประกอบพิธีจะเป็นผู้ถอดฝ้ายมงคลออกให้ จึงถือเป็นอันเสร็จพิธี

บางคู่อาจทำ พิธีสืบชะตา เพิ่มเติมเพื่อเป็นสัญลักษณ์แห่งการเริ่มต้นชีวิตคู่ ซึ่งในการประกอบพิธีจะมีเสาไม้ 3 ต้นค้ำกันไว้ เพื่อสื่อว่าให้ทั้งคู่ช่วยเหลือค้ำจุนกันไปตลอดชีวิต ขณะทำพิธีบ่าวสาวจะนั่งอยู่ใต้เสา 3 ต้นและนำสายสิญจน์ที่ผูกเสาทั้ง 3 ต้นมาสวมบนศีรษะและรับพรจากผู้ประกอบพิธี

ส่งตัวบ่าวสาว

ก่อนจะถึงการส่งตัวบ่าวสาวซึ่งเป็นพิธีการสุดท้าย จะต้องมีการมัดมือบ่าวสาวไว้ด้วยกันก่อน โดยมัดมือขวาของเจ้าสาวติดกับมือซ้ายของเจ้าบ่าว และให้พ่อแม่หรือบุคคลที่เคารพนับถือเป็นผู้จูงคู่บ่าวสาวเข้าห้อง โดยญาติฝ่ายเจ้าสาวจูงมือข้างที่เหลือของเจ้าสาว (มือข้างซ้าย) ส่วนญาติฝ่ายเจ้าบ่าวจูงมืออีกข้างของเจ้าบ่าว (มือข้างขวา) แล้วพาเข้าไปยังห้องหอ ซึ่งปูผ้าวางหมอนชุดใหม่พร้อมโปรยกลีบดอกไม้เตรียมไว้เรียบร้อยแล้ว และต้องไม่ลืมนำบายศรีและขันสลุงที่ใส่เงินทองที่ผู้มาร่วมงานได้มอบให้ตอนมัดมือบ่าวสาวเข้าไปวางเตรียมไว้ด้วย

ก่อนที่บ่าวสาวจะล้มตัวลงนอนบนเตียงในห้องหอ จะต้องให้พ่อแม่หรือผู้ใหญ่ที่แต่งงานครั้งเดียวและอยู่ด้วยกันอย่างยั่งยืนนอนเป็นตัวอย่างเพื่อเอาเคล็ดก่อน จากนั้นให้โอวาทในการครองเรือน แล้วจึงปล่อยให้คู่ข้าวใหม่ปลามันอยู่กันลำพังต่อไป

เรามีทิปส์ดีๆ มาฝากด้วย 6 เคล็ดลับการันตีเรื่องประหยัดค่าขันหมากในพิธีแต่งงานไทย

ภาพเปิด งานแต่งงานคุณไนซ์ & คุณแซนด์ ถ่ายโดย WIRUN KULTAN PHOTOGRAPHY
ภาพประกอบจาก Pinterest, sanook.com

Recommended