เครื่องแขวนดอกไม้สด ช่วยเพิ่มบรรยากาศงานแต่งไทยให้สมบูรณ์ พร้อมเรื่องที่ต้องรู้ก่อนสั่งทำ

เพิ่มความงามให้งานแต่งพิธีไทยด้วย เครื่องแขวนดอกไม้สด

นอกจากบรรดาดอกไม้ไทยๆ หรือพร็อปส์บางอย่างที่บ่าวสาวจะจัดหามาประดับตกแต่งไว้ในงานแต่งงานแบบพิธีไทยแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่ว่าที่บ่าวสาวหลายคู่มักจะมองข้าม หรือนึกไม่ถึงก็คือ เครื่องแขวนดอกไม้สด ที่สามารถนำมาแขวนประดับไว้ยังส่วนต่างๆ ของงานเพื่อเพิ่มบรรยากาศให้ดูไท๊ยไทย แพรว wedding เลยไปรวบรวมเครื่องแขวนงานแต่งไทยมาให้ว่าที่บ่าวสาวได้ดูกัน เผื่อจะเป็นแรงบันดาลใจดีๆ ให้กับว่าที่บ่าวสาวได้นำไปใช้ในงานแต่งงานของตัวเองกัน

เครื่องแขวนไทยมีอะไรบ้าง?

เครื่องแขวนไทยเป็นภูมิปัญญาการประดิษฐ์ประดอยสิ่งของสวยงามของไทยที่มีมาเนิ่นนาน นิยมใช้กันทุกงานประเพณี โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อหยิบจับมาใส่ในงานแต่งไทยแล้ว ก็ยิ่งสวยและเพิ่มบรรยากาศไทยๆ ให้มากขึ้นไปอีก โดยเครื่องแขวนแต่ละชนิดก็มีลวดลายและชื่อเรียกเพราะๆ แตกต่างกันไป เช่น บันไดแก้ว บันไดเงิน บันไดทอง กลิ่นจีนดอกรัก วิมานพระอินทร์ วิมานแท่น พวงชมพู พวงแก้ว และอีกมากมาย (ตามดูรูปได้ข้างล่างจ้ะ) ซึ่งแต่ละแบบแต่ละชนิดก็ร้อยเรียงมาจากดอกไม้มงคลอย่าง ดอกรัก ดอกพุด ดอกมะลิ ดอกบานไม่รู้โรย ดอกกุหลาบ ดอกจำปี ดอกจำปา และหากว่าใช้ดอกไม้สดในการทำ เมื่อนำไปแขวนในสถานที่จัดพิธีก็จะโชยกลิ่นหอมรื่นจมูก

พัดจีนประยุกต์

เครื่องแขวนดอกไม้สด

ลักษณะคล้ายพัดจีน ตัวพัดร้อยเป็นตาข่ายด้วยดอกพุด เมื่อนำมาตกแต่งด้วยดอกไม้สีสันสดใสจะเพิ่มความสะดุดตาชวนมอง ปลายด้ามพัดและส่วนล่างตกแต่งด้วยอุบะและตุ้งติ้ง เหมาะสำาหรับแขวนประดับช่องประตู หน้าต่าง หรือตามฝาผนัง

เอาไปแขวนที่ไหนดี?

ชื่อก็บอกอยู่ว่าเป็นเครื่องแขวนไทย ก็ไม่วายจะมีถามว่า แขวนที่ไหนดีล่ะ? ข้อนี้ตอบไม่ยากค่ะ เพราะส่วนใหญ่มักจะนำไปแขวนตามทางเข้างาน หน้าต่าง ประตู ฝาผนัง ตามฉาก ตามมุมต่างๆ ของสถานที่ บางครั้งก็ห้อยระย้าลงมาจากเพดานสวยๆ ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ขึ้นอยู่ความกว้างใหญ่และลักษณะของสถานที่ที่ใช้จัดงานว่าจะสามารถแขวนตรงไหนได้บ้าง แขวนแล้วจะสวยงามหรือไม่ ซึ่งว่าที่บ่าวสาวอาจต้องใช้ศิลปะในการจัดวางองค์ประกอบกันสักนิด

ขนาดของเครื่องแขวนแต่ละประเภทก็สำคัญกับการเลือกนำไปใช้เช่นกัน โดยเครื่องแขวนจะมีหลายขนาด ตั้งแต่เล็กไปจนถึงใหญ่มาก วัดขนาดกันเป็นนิ้ว เพราะฉะนั้นถ้าจะให้ดีว่าที่บ่าวสาวอาจต้องทำการบ้านว่า บริเวณที่ต้องการจะแขวนมีความกว้างยาวเท่าไหร่ เครื่องเขวนที่จะนำมาใช้จะได้ไม่ใหญ่ไป เล็กไป และสวยงามพอดีกัน

กลิ่นตะแคงประยุกต์

ลักษณะคล้ายต่างหู เป็นแบบที่ดัดแปลงมาจากกลิ่นตะแคง คือรูปดาว 6 แฉกอยู่ตรงกลาง ส่วนบนเป็นดาวครึ่งดวง ส่วนล่างเป็นรูปสี่เหลี่ยมติดกัน 2 อัน นำทุกส่วนมาผูกโยงเชื่อมกัน แล้วผูกอุบะและตุ้งติ้ง ให้ความรู้สึกที่โปร่งบางเบา เมื่อมีลมพัดเพียงเล็กน้อยก็จะไหว

 

ระย้าประยุกต์

ประกอบด้วยโครงสร้างทรงกลมแบนถักตาข่ายจอมแหด้วยดอกพุด ส่วนบนร้อยดอกรักเป็นสาย ส่วนล่างถักตาข่าย ดอกพุดชายห้อยอุบะตุ้งติ้ง ประดับเฟื่องมาลัยแบน ติดอุบะไทยลายประยุกต์ ส่วนล่างของระย้าประดับด้วยอุบะไทย

 

วิมานพระอินทร์

ประยุกต์ใช้ประดับประตู-หน้าต่าง ประดิษฐ์เพิ่มเติมจากตาข่ายหน้าช้าง ระหว่างจั่วบนและจั่วล่างจะเป็นกรอบสี่เหลี่ยมผืนผ้าคล้ายช่องหน้าต่าง ตรงกลางหน้าจั่วอาจติดแบบพระอินทร์ และติดแบบกระหนกบนจั่วล่าง หรืออาจจะไม่ติด เลยก็ได้

กลิ่นคว่ำประยุกต์

โครงสร้างเป็นกลิ่นตะแคง 6 แฉก ถักด้วยดอกรัก ส่วนบนและล่างร้อยดอกรักเป็นสายผูกรวบด้วยกัน ประดับด้วยเฟื่องมาลัยแบน ลูกโซ่ ตามมุมห้อยอุบะด้วยสร้อยสนจากดอกรัก ส่วนชายห้อยอุบะไทยทรงเครื่องด้วยกลีบดอกไม้

การสั่งทำ

เนื่องจากเครื่องแขวนไทยมีมากมายหลายขนาด สิ่งสำคัญของการสั่งทำคือ งบประมาณ ว่าที่บ่าวสาวต้องดูว่าอยากได้แบบไหน ราคาเท่าไหร่ แน่นอนว่าถ้าเป็นอันใหญ่ๆ ใช้วัสดุและดอกไม้เยอะก็มีราคาแพง แต่ถ้าเป็นอันเล็กๆ ใช้ดอกไม้ไม่มากราคาก็ถูกลงมา รวมถึงว่าที่บ่าวสาวควรสั่งทำกับทางร้านตั้งแต่เนิ่นๆ และแจ้งวันที่จะใช้งานจริงให้ชัดเจน เพราะเครื่องแขวนบางแบบจะต้องใช้เวลาในการขึ้นโครงก่อนที่จะลงดอกไม้จริง

 

บันไดเงินประยุกต์

ลักษณะคล้ายขั้นบันได 3 ขั้น นำมาผูกโยงกันด้วยสายร้อยด้านข้าง และสายร้อยไขว้กากบาท ตกแต่งด้วยตุ้งติ้ง ใช้ดอกไม้หลากสีสันและลวดลายตกแต่งที่แปลกตาออกไป

 

กระเช้าสีดาประยุกต์

โครงสร้างเป็นรูปกระเช้า ส่วนบนร้อยดอกรักเป็นสายผูกรวบตรงกลางห้อยอุบะแขก ตัวกระเช้าร้อยดอกพุดแล้วรวบปลาย ที่ชายห้อยอุบะพู่ประดิษฐ์ด้วยดอกกุหลาบ

เห็นไหมคะว่ามีแต่แบบสวยๆ งามๆ ทั้งนั้นรับรองว่าหากว่าที่บ่าวสาวนำไปประดับในงาน นอกจากแขกจะชมเรื่องความสวยงามแล้ว ยังช่วยสร้างบรรยากาศงานแต่งของบ่าวสาวให้อบอวลไปด้วยกลิ่นหอมอ่อนๆ ของเหล่าหมู่มวลดอกไม้ได้ด้วยน้า โอยยย แค่คิดก็ฟิน โรแมนติกสุดๆ ไปเลย ^^

ขอขอบคุณเครื่องแขวนจาก : หลักสูตรคหกรรมศาสตร์ โรงเรียนการเรือนมหาวิทยาลัยสวนดุสิต วิทยาเขตสุพรรณบุรี

Recommended