4 ธรรมเนียมปฏิบัติที่ถูกต้องบ่าวสาวควรรู้ไว้ในพิธีรับไหว้

พิธีรับไหว้ จัดให้เป๊ะ ผู้ใหญ่ปลื้ม

พิธีรับไหว้ ถือเป็นอีกหนึ่งพิธีสำคัญในงานแต่งพิธีไทย เพราะเป็นการแสดงออกถึงการมีสัมมาคารวะและนอบน้อมต่อบิดามารดารวมถึงบรรดา ญาติผู้ใหญ่ของคู่บ่าวสาว หลายๆ คนคงรู้จักและเคยได้ร่วมในพิธีอันดีงามนี้กันมาบ้างแล้ว แต่น้อยคนนักที่จะรู้ธรรมเนียมปฏิบัติที่ถูกต้อง ด้วยเหตุนี้เราจึงนำ 4 ธรรมเนียมปฏิบัติควรรู้ในพิธีรับไหว้มาบอกเล่าไว้ ถึงคราวต้องรับหน้าที่บ่าวสาวเมื่อไหร่จะได้ปฏิบัติกันได้อย่างถูกต้องนะคะ

“การจัดที่นั่ง” ธรรมเนียมดั้งเดิมที่เปลี่ยนแปลงไป

พิธีรับไหว้ตามธรรมเนียมดั้งเดิมนั้น คู่บ่าวสาวจะต้องถือพานดอกไม้ธูปเทียนคลานเข้าไปไหว้ผู้ใหญ่ เพื่อเป็นการฝากเนื้อฝากตัวและแสดงถึงความเคารพนอบน้อม แต่ปัจจุบันได้เปลี่ยนเป็นการจัดสถานที่เตรียมไว้ อาจเป็นเก้าอี้หรือเสื่อให้ญาติผู้ใหญ่ได้นั่งต่อหน้าคู่บ่าวสาว ครั้นพอทำพิธีเสร็จจึงลุกออกไป ให้ญาติผู้ใหญ่ท่านอื่นได้เข้ามานั่งทำพิธีต่อ ทั้งนี้ก็เพื่อความสะดวกของคู่บ่าวสาวให้ดำเนินพิธีการได้อย่างราบรื่นไม่ ขลุกขลัก และได้มุมถ่ายภาพที่สวยงาม

“ลำดับไหว้ผู้ใหญ่” ใครก่อนใครหลัง

ลำดับการไหว้ผู้ใหญ่ในพิธีรับไหว้จะเริ่มต้นที่พ่อแม่ของคู่บ่าวสาวก่อน แล้วค่อยไล่เรียงญาติผู้ใหญ่ไปตามลำดับความอาวุโส เช่น ปู่ ย่า ตา ยาย ลุง ป้า น้า อา โดยส่วนใหญ่หากทำพิธีที่บ้านของเจ้าสาว ทางเจ้าบ้านก็จะให้เกียรติญาติผู้ใหญ่ของเจ้าบ่าวได้ทำพิธีรับไหว้ก่อน

“กราบใคร” อย่างไรไม่เหมือนกัน

การกราบผู้ใหญ่ในพิธีรับไหว้จะมีธรรมเนียมปฏิบัติที่แตกต่างจากการกราบ ผู้ใหญ่ในโอกาสปกติทั่วไป โดยถ้าเป็นพ่อแม่ปู่ย่าตายายของคู่บ่าวสาวจะต้องกราบ 3 ครั้ง ไม่ต้องแบมือ ส่วนญาติอื่นๆ ให้กราบเพียงครั้งเดียวไม่ต้องแบมือเช่นเดียวกัน

ปิดท้ายให้สวยด้วย “พิธีเพิ่มเงินทุน”

หลังจากทำพิธีรับไหว้เสร็จ บางครอบครัวจะจัดให้มีพิธีเพิ่มเงินทุนแก่คู่บ่าวสาว โดยให้พ่อแม่หรือญาติพี่น้องของคู่บ่าวสาว (ไม่จำเป็นต้องเป็นผู้ใหญ่) ได้ใส่เงินเพิ่มเข้าไปในพานที่ใส่เงินรับไหว้ จะมากน้อยอย่างไรก็ได้ตามความสะดวก หลังจากนั้นจึงนำถั่วงาและแป้งประพรมพร้อมอวยพรแล้วมอบให้แก่คู่บ่าวสาว

แจกกันแบบสเต็ปบายสเต็ป กับขั้นตอนลำดับพิธีแต่งงานไทยฉบับสมบูรณ์

Recommended