รู้จริงทำได้ถูกกับขั้นตอนการจัดงานฉลองสมรสพระราชทาน

สมรสพระราชทาน ถือเป็นความปลาบปลื้มที่สุดของชีวิตคู่ ซึ่งก็มีระเบียบวิธีการอยู่หลายขั้นตอน เราจึงขอเล่าสู่กันฟังโดยเป็นประสบการณ์จากคุณป๊อปแป๊บ – กฤตานุตสา สรรคนี เจ้าสาวตัวจริงผู้ได้รับสมรสประทาน จากพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ ที่ใจดีเล่าให้เราฟังในทุกขั้นตอนทีเดียวค่ะ

ยื่นคำร้องขอสมรสพระราชทาน

เริ่มต้นการขอสมรสพระราชทานด้วยการเขียนคำร้อง โดยขอแบบฟอร์มคำร้องได้ที่กองราชเลขานุการในพระองค์ ของแต่ละพระองค์ที่คู่บ่าวสาวประสงค์จะได้รับพระราชทาน โดยรายละเอียดหลักๆ ในแบบฟอร์มจะเป็นประวัติของบ่าวสาว เป็นใคร ทำอะไร ลูกเต้าเหล่าใคร หน้าที่สองก็จะเป็นเรื่องว่าเคยถวายงานที่ไหนอย่างไร ณ จุดนี้ คุณป๊อปแป๊บ กล่าวว่า มีเท่าไหร่จงขุดขึ้นมา อย่าได้ปล่อย จะเคยได้รับรางวัลจากพระหัตถ์สมัยละอ่อน หรือเคยถวายงานแบบห่างๆ ก็ต้องเขียน ไม่ควรตกหล่น เพื่อเพิ่มเปอร์เซ็นต์การได้รับพระราชทาน และอีกหนึ่งใบเขียนวันเดือนปีและเวลาเกิดของคู่บ่าวสาว

การรอคอยช่างนานแสนนาน

หลังจากยื่นแบบฟอร์มไปแล้วก็เป็นช่วงเวลาแห่งการรอคอย โดยคู่บ่าวสาวจะได้รับหมายเลขประจำตัว ใช้เพื่อโทรสอบถามว่า เมื่อไหร่หนอจะถึงคิวของเรา ซึ่งระยะเวลาการรอ ณ จุดนี้ จะอยู่ที่ประมาณ 4-6 เดือนเลยทีเดียว กว่าที่กองงานฯ จะแจ้งว่าได้หรือไม่ ซึ่งบ่าวสาวจะไม่สามารถกำหนดวันได้เลย บางคู่อาจมีถอดใจไม่รอ แต่ถ้ารอบอกเลยว่าคุ้มค่ามากกับการรอคอย

ซ้อมเล็ก ซ้อมใหญ่

หลังจากที่กองงานฯ แจ้งข่าวดีให้แล้ว งานรีบจึงเกิดขึ้น ทั้งนี้ก็เนื่องมาจากว่า กองงานจะกำหนดวันเข้ารับพระราชทานน้ำสังข์มาให้ ซึ่งมักจะอยู่ภายใน 1 เดือนข้างหน้า และน้ำสังข์พระราชทานคือน้ำสังข์สุดท้ายที่จะรดมือบ่าวสาว เพราะฉะนั้นต้องรีบจัดงานให้เหล่าญาติสนิทมิตรสหายมารดน้ำก่อนถึงวันเข้าวังนะจ๊ะ  และอีกเรื่องที่ต้องทำในช่วงนี้คือแจ้งชื่อญาติบ่าวสาวฝ่ายละ 4 คน เพื่อเข้าร่วมเป็นพยานในวันรดน้ำสังข์

กองงานฯ จะกำหนดวันซ้อมมาให้บ่าวสาวก่อนวันงานประมาณ 1 อาทิตย์ เพื่อทำขั้นตอนให้ถูกต้อง ส่วนวันจริงก็ต้องมาซ้อมใหญ่กันอีกรอบ ก่อนเข้าสู่ห้องที่จะทรงพระราชทานน้ำสังข์

นาทีที่ยิ่งใหญ่ของชีวิตคู่

เมื่อเข้ามาถึงห้องสำหรับเข้าพระราชทานน้ำสังข์แล้ว บ่าวสาวจะเป็นผู้เปิดกรวยพานธูปเทียนแพเพื่อถวาย จากนั้นจะต้องคลานเข่าเข้าไปเพื่อรับพระราชทานน้ำสังข์ พระองค์ท่านจะพระราชทานใบมะตูมเพื่อให้นำมาทัดหู แล้วตามด้วยเจิมแป้งกระแจะที่หน้าผาก ทรงประทานเงินขวัญถุง แล้วจึงอวยพรให้แก่คู่บ่าวสาว ตามด้วยการถ่ายรูป เป็นอันจบพิธี

ในวันจริงบ่าวสาวจะต้องเตรียมพานธูปเทียนแพมาด้วยตัวเอง หรือจะแจ้งให้ทางกองงานเป็นผู้จัดเตรียมให้ก็ได้เหมือนกัน ส่วนเครื่องแต่งกายนั้น เจ้าสาวใส่ชุดไทยบรมพิมาน ญาติผู้หญิงใส่ชุดไทยจิตรลดา เจ้าบ่าวชุดขอเฝ้าสีขาวหรือชุดข้าราชการ และญาติผู้ชายใส่ชุดสูทหรือชุดขอเฝ้าสีขาว

ฉลองสมรส

ในงานฉลองสมรสบ่าวสาวสามารถจัดเฮฮาปาร์ตี้ได้ตามปกติเลยค่ะ แต่ประธานที่ขึ้นพูดต้องมีการถวายพระพรเพิ่มขึ้นมาด้วย และเปลี่ยนจากการชูแก้วร้องไชโย เป็นกล่าวทรงพระเจริญแทนนะคะ  ส่วนเรื่องเพลงมหาฤกษ์ที่จะต้องเปิดก่อนประธานขึ้นพูดนั้นจะมีหรือไม่มีก็ได้ เช่นเดียวกับเพลงสรรเสริญพระบารมีซึ่งอาจมีหรือไม่มีก่อนกล่าว ทรงพระเจริญก็ได้เช่นกัน

สมรสพระราชทาน ดูเหมือนว่าเรื่องจะเยอะ แต่บอกเลยนะคะว่าบ่าวสาวคู่ไหนที่ได้พระราชทานมานับว่าเป็นศิริมงคลแก่ชีวิตคู่สุดๆไปเลย

Recommended