ล้างเท้าเจ้าบ่าว อีกหนึ่งพิธีแต่งงานไทยที่บ่าวสาวควรมีไว้ในงานแต่ง

พิธีแต่งงานไทยในปัจจุบัน น้อยงานนักที่จะมีพิธี ล้างเท้าเจ้าบ่าว ให้ได้เห็น ซึ่งที่มาของการล้างเท้าเจ้าบ่าวนั้น เพราะในสมัยโบราณยังไม่มีรองเท้าสวมใส่เหมือนอย่างเช่นในปัจจุบัน ฉะนั้นตามบ้านเรือนบริเวณบันไดทางขึ้นบ้านจึงจะมีตุ่มน้ำให้เจ้าของบ้านหรือแขกที่มาเยือนได้ล้างเท้าก่อนขึ้นเรือน 

และเมื่อถึงคราวพิธีแต่งงาน จึงมีการแทรกการล้างเท้าเจ้าบ่าวเข้ามาเป็นหนึ่งในพิธีการที่สำคัญ โดยจะใช้ใบตองและก้อนหินใหญ่รองที่เท้าเจ้าบ่าวก่อนล้าง เนื่องจากเห็นว่าการล้างเท้าบนใบตองและก้อนหินนั้นสะอาดกว่าการล้างเท้าบนพื้นดิน

ซึ่งพิธีล้างเท้า จะเริ่มต้นเมื่อเจ้าบ่าวผ่านด่านประตูเงินประตูทองมาแล้วเป็นที่เรียบร้อย จนมาเจอด่านสุดท้ายที่จะมีน้องหรือญาติผู้น้องของฝ่ายเจ้าสาวยืนดักรอพร้อมขันที่มีน้ำสะอาดผสมด้วยมะกรูดและมะนาว หรือในบางที่จะมีหินอยู่บนถาด เพื่อรองน้ำที่จะใช้ล้างเท้าเจ้าบ่าว สำหรับคนที่จะมาทำหน้าที่ล้างเท้าเจ้าบ่าวนั้น จะต้องเป็นเด็กที่อายุน้อยกว่าบ่าวสาว เพราะต้องก้มลงไปล้างเท้าให้กับเจ้าบ่าว เมื่อล้างเสร็จเจ้าบ่าวจะต้องให้ซองเงินหรือสิ่งของเล็กๆ น้อยๆ เป็นการตอบแทน จากนั้นญาติผู้ใหญ่ฝ่ายเจ้าสาวจึงจะออกมารับและจูงมือเจ้าบ่าวเข้าไปทำพิธีต่อไป

แต่ในปัจจุบันที่มีการใส่รองเท้าแล้วนั้น พิธีล้างเท้าจึงเปลี่ยนมาใช้ก้านมะยมเก้ามัดจุ่มน้ำในขันที่เตรียมไว้แล้วแค่พรมบนรองเท้าเจ้าบ่าวเท่านั้น ไม่ได้ถึงขั้นถอดถุงเท้ารองเท้าให้ยุ่งยากหรือล้างจนเท้าเปียกเหมือนสมัยก่อน และมักจะมีการแกล้งกันโดยนำรองเท้าของเจ้าบ่าวไปซ่อน ซึ่งผู้ที่นำไปซ่อนจะเรียกค่าไถ่จากเจ้าบ่าวจนพอใจ ถึงจะคืนรองเท้าให้ ถือเป็นการหยอกล้อเพื่อสร้างความสนุกสนานให้กับงานแต่งงานไปอีกแบบ

เพราะฉะนั้นเมื่อถึงวันสำคัญของคุณเมื่อไหร่ เราขอเตือนคุณเจ้าบ่าวให้ระวังรองเท้าไว้ให้ดีๆ ไม่อย่างนั้นคุณจะโดนเรียกค่าไถ่จนซองเงินที่เตรียมไว้ไม่พอเลยก็ได้

ติดตามเรื่องราวเกี่ยวกับพิธีแต่งงานไทยเพิ่มเติมได้ที่นี่ คลิกเลย!

Recommended