5 กรณีตัวอย่างปัญหาชีวิตคู่ อุปสรรคเล็กๆ แต่เป็นปัญหาใหญ่หากไม่แก้!

จริงอยู่ที่เมื่อตัดสินใจใช้ชีวิตคู่ร่วมกันแล้ว มีอะไรก็ต้องร่วมหัวจมท้ายไปด้วยกัน แต่คุณๆ รู้ไหมคะว่า การร่วมหัวจมท้ายที่ว่าเนี่ยก็มีข้อยกเว้นนะคะ เพราะในบางเรื่องก็ไม่ไหวจะต้องร่วมด้วยจริงๆ ถ้าคุณยังคิดไม่ออกว่าอะไรจะมาขวางการร่วมหัวจมท้ายที่ว่า แพรวเวดดิ้งมีตัวอย่างความคิดที่เป็น ปัญหาชีวิตคู่ ในเรื่องต่างๆ มาฝากกัน

หากคุณภรรยาให้การสนับสนุนสิ่งที่สามีคิดจะทำนั้น ถือว่าเป็นสิ่งที่ควรอย่างยิ่ง แต่แหมจะให้หลับตาสนับสนุนกันซะทุกเรื่องก็เกรงว่าไม่ใช่ ควรจะดูสักนิดนึงก็ดีนะ ว่าเรื่องไหนควรเรื่องไหนไม่ควร เพราะไม่อย่างนั้นจากที่จะช่วยส่งเสริมกันจะกลับกลายเป็นการสร้างปัญหาครอบครัวขึ้นมาได้นะ อย่างเช่นปัญหาต่างๆ ต่อไปนี้

1กรณีเรื่องการใช้เงิน

เรื่องเงินต้องคิดให้ดี ใช้ให้เหมาะ อย่างที่เคยบอกไปแล้วว่า แม้จะตกลงอย่างชัดเจนว่ากระเป๋าใครกระเป๋ามัน แต่เวลาอีกฝ่ายจะใช้ คุณเองในฐานะสามีหรือภรรยาก็มีสิทธิ์พูดเตือนเพื่อแตะเบรคได้นะคะ

  • เรื่องนี้ควรจมหัว : รถยนต์เก่าที่เสียเงินซ่อมมานับแสน ซ่อมต่อไปไม่คุ้มแน่ ซื้อใหม่คุ้มกว่า แบบนี้สิควรเชียร์ แต่…
  • เรื่องนี้อย่าจมท้าย : รถที่ว่าเพิ่งถอดป้ายแดงมาได้แค่ 2 ปี หรือเพิ่งเป็นไทจากการผ่อนจ่าย พอรุ่นใหม่ออกมา แค่รูปลักษณ์สวยกว่าก็จะเปลี่ยน อย่างนี้ควรจะห้ามอย่างด่วนๆ มิเช่นนั้นคุณจะมีภาระหนี้สิ้นก้อนโตเพิ่มอีกแน่ๆ

2

กรณีเรื่องทำงานและการลงทุน

จริงอยู่ที่ความถนัด ความเก่งของแต่ละคนต่างกัน และความฝันที่จะเดินไปข้างหน้าเป็นเรื่องที่พึงจะทำ แต่ความพร้อมละ สำคัญกว่าไหม ในฐานะเพื่อนคู่คิดที่นอนเคียงกันอยู่ทุกคืน ก็ควรช่วยเป็นส่วนหนึ่งในการให้คำปรึกษา

  • เรื่องนี้ควรจมหัว : งานที่ทำอยู่ดูแล้วก็มีแววเติบโต ตำแหน่งใหญ่ๆ รออยู่ข้างหน้าเพียงแค่รอเวลา แต่ถ้าอยากทำกิจการส่วนตัวอีกทาง ถ้าเขาทำไหว จัดแบ่งเวลาได้ คุณภรรยาก็ควรช่วยคิดว่าเงินทุนเท่าไหร่ จะกระเทือนไปที่เงินเก็บไหม และที่สำคัญจะทำให้งานประจำเสียหายหรือเปล่า แบบนี้เรียกว่าทีมสนับสนุนที่ดี แต่…
  • เรื่องนี้อย่าจมท้าย : ถ้าเห็นๆ อยู่ว่า ลงทุนไปชีวิตอับเฉาแน่นอน เศรษฐกิจก็ไม่ดี แต่เขาก็ยังดื้อรั้นอยากจะทำ แบบนี้ก็คงต้องมีเถียงกันสักหน่อย อะไรที่เสี่ยงต่อความมั่นคงของครอบครัว จงอย่าสนับสนุน และกล่าวเซย์โนอย่างมีศิลปะได้เลย ถ้ายังไม่เชื่อกันละก็ ไหนเอาเหตุผลมาแผ่กันอีกจนได้ข้อสรุปให้จงได้

3

กรณีเรื่องความเสี่ยง

ต่อเนื่องกับเรื่องก่อนหน้านี้ หลายคู่เถียงกันเสมอว่าแม้จะเสี่ยงแต่ก็คุ้ม เรื่องร่วมหัวจมท้ายกันบางครั้งไม่ต้องเสี่ยงร่วมกันขนาดนั้นก็ได้ ถ้าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเห็นชัดแล้วว่าไม่เวิร์คแน่ เช่น

  • เรื่องนี้ควรจมหัว : ภรรยาอยู่บ้านเป็นแม่บ้าน และอยากทำธุรกิจก็นับเป็นเรื่องที่ดี ถ้าเธอเช็ครอบด้านแล้วว่าดีจริง เสี่ยงน้อย ไม่ทำให้ชีวิตครอบครัวหรือหน้าที่ภรรยาหรือแม่บกพร่อง สามีก็ควรอย่างยิ่งที่จะให้การสนับสนุน แต่ต้องไม่ลืมว่าธุรกิจที่ว่านี้ต้องเป็นธุรกิจที่ใสสะอาดด้วยล่ะ ไม่ใช่ว่า…
  • เรื่องนี้อย่าจมท้าย : เธอเห็นแก่เงินที่เยอะหรือแค่อยากมีอำนาจต่อรองจนหน้ามืดตามัวไปลงทุนในธุรกิจสีเทาประเภทแม่ค้าหวยใต้ดิน ปล่อยกู้ เปิดผับหรือส่งยาบ้า แบบนั้นจะเป็นการชักนำความเดือดร้อนแสนสาหัสมาสู่ครอบครัวของคุณ

4

กรณีเรื่องการวางแผนครอบครัว

เรื่องนี้สำคัญมาก และเป็นข้ออ้างในการร่วมหัวจมท้ายผิดๆ มาหลายคู่แล้ว เพราะส่วนใหญ่ต่างฝ่ายต่างมีข้ออ้างในการวางแผนครอบครัวในแนวทางของตัวเองกันทั้งนั้น ลองมาดูกันกับเรื่องง่ายๆ ที่ขอยกเป็นกรณีตัวอย่างเตือนว่าอย่าได้จมท้ายเชียวนะ

  • เรื่องนี้ควรจมหัว : การสร้างบ้าน ถ้าสามีอยากทำห้องให้ลูกน้อยในอนาคต โดยสร้างเป็นบ้านต้นไม้หลังเล็กๆ อยู่บนต้นหูกระจง โดยให้เหตุผลว่าให้ลูกได้สัมผัสกับธรรมชาติ เมื่อเช็คสภาพแวดล้อมแล้วเห็นว่าปลอดภัยดี ก็ควรสนับสนุนเขา โดยช่วยกันดูเรื่องของโครงสร้างที่มั่นคง ระดับความสูงกำลังพอดี และปลอดภัยจากสัตว์ร้ายมีพิษทุกชนิด แต่…
  • เรื่องนี้อย่าจมท้าย : ถ้ารู้ๆ อยู่ว่าต้นหูกระจงที่ว่ามีกองทัพบุ้งอยู่เพียบ แถมด้านหนึ่งก็ติดถนน แล้วแบบนี้ถ้ายังจะดื้อแพ่งก็คงต้องไฝว้กันหน่อย เกิดอยู่ๆ ไปโจรปีนบ้านต้นไม้ลูกมาเล่นขายของด้วยนี่จะทำอย่างไร หรืออยู่ๆ วันดีคืนดี กองทัพบุ้งบุกขึ้นมา จะเกิดอาการคันจนต้องแบกเข้าโรงพยาบาล อันนี้เลดี้ว่าไม่เวิร์ค

5กรณีเรื่องอนาคตลูกน้อย

เถียงกันไม่จบไม่สิ้นกับอนาคตลูกน้อย การร่วมหัวจมท้ายของพ่อแม่ที่มีลูกเป็นตัวกลางเป็นเรื่องละเอียดอ่อนมาก ถ้าคนหนึ่งหวังดี แต่คิดไม่รอบ บอกเลยนะคะว่า คนที่รับเคราะห์ไปเต็มๆ คือคนกลางอย่างตัวเด็ก งั้นมาดูกรณีตัวอย่างกันว่า อะไรที่ไม่ควรจมท้ายกับความคิดที่บังเกิด

  • เรื่องนี้ควรจมหัว : เชื่อว่าพ่อแม่ทุกคนก็อยากให้ลูกที่เรารักเรียนที่ดี ถ้าคุณสามีอยากเลือกโรงเรียนที่มีชื่อเสียงให้ลูก คุณก็ควรที่จะสนับสนุนอย่างเต็มที่ แต่…
  • เรื่องนี้อย่าจมท้าย : ถ้าอยากเลือกโรงเรียนเอกชนดังๆ ค่าเทอมแพงๆ ให้ลูกเพื่อซื้อสังคม แต่รายรับครอบครัวไม่พอจ่ายค่าเทอม อันนี้ก็คงไม่ไหว คุณควรห้ามเขา เพราะเดี๋ยวนี้โรงเรียนรัฐดีๆ ค่าเทอมไม่แพงก็มีเยอะแยะ ไม่จำเป็นต้องเป็นโรงเรียนเอกชนเสมอไปหรอกจริงหรือเปล่า…

ทั้งหมดนี้คือ 5 ตัวอย่างสถานการณ์ที่สามีภรรยาควรคิดให้ดีก่อนตัดสินใจร่วมหัวจมท้ายกัน ขอให้คุณทั้งสองค่อยๆ ช่วยกันคิดและถ้าหากมีปัญหาก็ค่อยๆ ช่วยกันแก้ไขนะจ๊ะ อย่าใช้แต่อารมณ์ของตน เพียงเท่านี้ชีวิตคู่ก็จะอยู่ด้วยกันอย่างยืดยาวจนถือไม้เท้ายอดทอง กระบองยอดเพชรแน่นอนจ้า

ขอบคุณภาพประกอบจาก : www.roamnewroads.ca, blog.textbooks.com, www.infinitaccounting.com, www.benzinga.com, www.gscc.net, www.specialschoolsvoice.com

Recommended