ว่าที่สามี-ภรรยาทั้งหลายเตรียมตัวให้พร้อมก่อนไปจดทะเบียนสมรสตามนี้

การจัดงานแต่งสวยๆ อลังการเป็นเพียงองค์ประกอบหนึ่งของชีวิตคู่ที่คุณและคนรักจะได้เฉลิมฉลองและประกาศให้คนรอบตัวรู้ว่าคุณไม่ได้อยู่ในสถานะโสดอีกต่อไป แต่! ถ้าจะให้พูดได้เต็มปากเต็มคำว่าคุณและคนรักเป็นของกันและกัน เป็นสามีภรรยาที่ถูกต้องตามกฎหมาย การ จดทะเบียนสมรส ก็เป็นอีกหนึ่งเรื่องสำคัญที่ไม่ควรจะมองข้ามเด็ดขาด

แต่ช้าก่อน! ถ้าคุณคิดว่าการ จดทะเบียนสมรส นั้นทำได้ง่ายๆ แค่เดินไปอำเภอก็จดได้ ขอบอกว่าคิดผิดไปสักหน่อยนะจ๊ะ ถึงแม้ว่าจะเป็นเพียงแค่การจรดปลายปากกาลงบนกระดาษ แต่คุณก็ต้องเตรียมตัว และเตรียมเอกสารให้พร้อม เวลาไปอำเภอจะได้ไม่เสียเที่ยวนะ แต่ไอ้เจ้าเอกสารที่ว่านั้นมีอะไรที่ต้องเตรียมบ้าง แพรว wedding จะชี้แจ้งให้ฟังจ้า

ส่วนคู่ไหนที่อยากแต่งปุ๊ปจดปั๊ปในวันแต่งงาน คลิกเลย >> จดทะเบียนสมรสนอกสถานที่ บริการดีๆ ที่รัฐเขามีไว้ให้

คุณสมบัติของผู้ที่จะจดทะเบียนสมรส

เริ่มที่คุณสมบัติของผู้ที่จะจดทะเบียนสมรสก่อน แน่นอนว่าสิ่งที่จะต้องมีอยู่ด้วยกันทั้งคู่ก็คือ “ความรัก” (ฮิ้วววว!) แต่นอกจากความรักแล้ว ฮีบินอยากให้คุณสำรวจตัวเองด้วยว่ามีคุณสมบัติเหล่านี้พร้อมหรือไม่ เริ่ม!

  1. จะต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 17 ปีบริบูรณ์ แต่ถ้ายังไม่ถึง 20 ปีบริบูรณ์ จะต้องมีบิดา มารดา หรือผู้ปกครองมาให้ความยินยอมด้วย ส่วนสาวๆ หนุ่มๆ คนไหนที่มีอายุ 20 ปีบริบูรณ์แล้ว สามารถทำการจดทะเบียนสมรสได้ด้วยตัวเอง ส่วนสาวน้อยหนุ่มน้อยคนไหนที่อายุไม่ถึง 17 ปีบริบูรณ์ แต่อยากจะสมรสสมรักจดทะเบียนอย่างถูกกฎหมาย จะต้องได้รับอนุญาตจากศาลซะก่อน
  2. ไม่เป็นบุคคลวิกลจริต หรือไร้ความสามารถ
  3. ไม่เป็นพี่น้องร่วมบิดามารดา หรือร่วมแต่บิดามารดา (ที่เขาเรียกว่าลูกติดพ่อ ลูกติดแม่นั่นแหละ)
  4. ไม่เป็นคู่สมรสของบุคคลอื่น (ผิดศีลธรรมและผิดกฎหมายด้วยนะ)
  5. ผู้รับบุตรบุญธรรมจะสมรสกับบุตรบุญธรรมไม่ได้ (พ่อหรือแม่บุญธรรมจะจดทะเบียนกับลูกบุญธรรมไม่ได้นะจ๊ะ)

หมายเหตุ : กรณีผู้ร้องยังไม่บรรลุนิติภาวะ (20 ปีบริบูรณ์) บิดา มารดา หรือผู้ใช้อำนาจปกครองจะต้องให้ความยินยอมด้วยตนเอง หากไม่สามารถมาด้วยตนเองได้ให้ใช้หนังสือให้ความยินยอมเป็นหลักฐาน

หมายเหตุ : สำหรับผู้หญิงที่เคยจดทะเบียนสมรสมาก่อน (หญิงหม้าย) ถ้าจะจดทะเบียนกับชายคนเดิม (สามีคนเดิม) สามารถจดได้เลย แต่! ถ้าจะจดกับชายคนใหม่จะต้อง เว้นระยะเวลาจากการหย่าครั้งล่าสุดอย่างน้อย 310 วัน เว้นแต่
(1) คลอดบุตรแล้วในระหว่างนั้น
(2) สมรสกับคู่สมรสเดิม
(3) มีใบรับรองแพทย์ว่าไม่ได้ตั้งครรภ์
(4) ศาลมีคำสั่งให้สมรสได้
(5) ชายหญิงที่มีอายุไม่ครบ 17 ปีบริบูรณ์ที่ศาลอนุญาตให้สมรสได้

ส่วนผู้ชายถ้าหย่าแล้วสามารถจดทะเบียนใหม่กับหญิงคนใหม่ได้เลยไม่ต้องรอ เพราะผู้ชายท้องไม่ได้จ้า

ภาพจาก : Vin Buddy’s Wedding
ภาพจาก : Vin Buddy’s Wedding

เอกสารสำคัญที่ต้องเตรียมไปจดทะเบียนสมรส

  1. บัตรประชาชนตัวจริงของชายหญิง (บัตรที่ยังไม่หมดอายุ) หรือบัตรอื่นที่ทางราชการออกให้
  2. ทะเบียนบ้านตัวจริงของชายหญิง (ถ่ายสำเนาไปเผื่อด้วยก็ดีนะ)
  3. พยาน 2 คน (พร้อมบัตรประชาชนของพยานด้วย) อายุครบ 20 ปีบริบูรณ์
  4. ใครที่เคยหย่ามาก่อนต้องเอาหลักฐานการหย่ามาด้วย
  5. กรณีคู่สมรสเสียชีวิตคนก่อน ให้ใช้หลักฐานการตาย เช่น ใบมรณะบัตร
  6. สูจิบัตรและทะเบียนบ้านของบุตร (หากมีบุตรที่เกิดก่อนจะมาจดทะเบียนสมรส)
  7. แบบฟอร์ม “คร.1” (ไปเอาที่อำเภอก็ได้)

หมายเหตุ : ใครจะจดทะเบียนสมรสกับคนรักที่เป็นชาวต่างชาติต้องมี สำเนาหนังสือเดินทาง (Passport) และ หนังสือรับรองสถานภาพบุคคลจากสถานทูต หรือสถานกงสุล หรือองค์การของรัฐบาลประเทศนั้นมอบหมาย พร้อมคำแปล (ที่มีการรับรองว่าแปลถูกต้อง) มาด้วย

เปลี่ยนคำนำหน้า เปลี่ยนนามสกุล

แถมให้อีกนิดสำหรับฝ่ายหญิงที่คิดจะเปลี่ยนคำนำหน้าจาก “นางสาว” เป็น “นาง” หรือเปลี่ยนไปใช้ “นามสกุลสามี” (สมัยนี้จะไม่เปลี่ยนก็ได้นะ กฎหมายเขาให้เลือกได้จ้า) หลังจากจดทะเบียนสมรสและทำการเปลี่ยนคำนำหน้าและเปลี่ยนนามสกุลเสร็จแล้ว เอกสารที่คุณจะต้องเก็บรักษาไว้ให้ดีก็คือ “หนังสือสำคัญการจดทะเบียนเปลี่ยนชื่อสกุล (ช.๕)” เพราะมันจะต้องใช้ในการเปลี่ยนชื่อสกุลของคุณกับเอกสารอื่นๆ ทุกครั้ง ไม่ว่าจะเป็น หนังสือเดินทาง บัตรเดบิต บัตรเครดิต บัญชีธนาคาร ฯลฯ (ถ้าเจ้าหน้าที่ลืมให้ ช.๕ ต้องรีบทวง!)

การจดทะเบียนสมรสจริงๆ แล้วไม่ใช่เรื่องยากหรอกนะคะ แต่ก็ใช่ว่านึกจะจดก็เดินไปอำเภอแล้วจะทำได้เลยทันที ของแบบนี้ต้องเตรียมตัวและเตรียมเอกสารให้พร้อมซะก่อน พอถึงฤกษ์ดีจรดปากกาจะได้ไม่ต้องหันรีหันขวางหาเอกสารจนเลยฤกษ์ยามที่กำหนดไว้

การจดทะเบียนสมรสแบ่งออกเป็น 2 แบบคือ ไปจดที่อำเภอกับจดนอกอำเภอ ซึ่งในแต่ละแบบจะมีวิธีการอย่างไรบ้างนั้น มาดูกันเลย

1. จดทะเบียนที่อำเภอ

การจดทะเบียนที่อำเภอถือเป็นวิธีที่สะดวกและง่ายมากๆ เพียงแค่คุณเตรียมเอกสารหลักฐานให้ครบพร้อมกรอกรายละเอียดแบบใบคำร้องฯ (คร.1) ให้ครบ พร้อมพยานบุคคลอีก 2 คน ก็สามารถเดินทางไปห้องทะเบียน ในที่ว่าการอำเภอเพื่อติดต่อและยื่นเอกสารคำร้องฯ แก่นายทะเบียนได้แล้ว โดยสามารถยื่นคำร้องขอจดทะเบียนได้ทุกแห่ง โดยไม่ต้องคำนึงถึงภูมิลำเนาของคู่สมรส หรือหากบ้านใครไม่ได้อยู่ในเขตอำเภอ ก็สามารถไปจดได้ที่กิ่งอำเภอหรือสำนักงานเขตใกล้บ้านก็ได้ โดยไม่จำเป็นต้องยึดที่อยู่ตามภูมิลำเนา

แต่หากคู่สมรสของคุณยังไม่บรรลุนิติภาวะแล้วละก็ จะต้องให้บิดา-มารดาหรือผู้ปกครองโดยชอบธรรมมาเซ็นต์แสดงความยินยอมด้วย และถ้าหากคู่สมรสเป็นบุคคลต่างด้าว จะต้องใช้หนังสือรับรองสถานภาพบุคคลจากสถานกงสุลหรือสถานฑูตที่ตนสังกัด พร้อมแปลเป็นภาษาไทยและมีคำรับรองการแปล มายื่นพร้อมคำร้องฯ ต่อนายทะเบียน ณ ที่ว่าการอำเภอ กิ่งอำเภอ หรือสำนักงานเขต

เมื่อเรายื่นเอกสารหลักฐานและใบคำร้องฯ เรียบร้อยแล้ว ทางเจ้าหน้าจะทำการาตรวจสอบคุณสมบัติของผู้ยื่นคำร้องทั้งสองฝ่ายก่อนที่จะใบทะเบียนสมรสและใบสำคัญการสมรส ซึ่งในขั้นตอนี้หากคู่รักมีความประสงค์จะให้บันทึกข้อตกลงเรื่องทรัพย์สินหรือเรื่องอื่นๆ ก็สามารถแจ้งนายทะเบียนให้รับทราบได้ และที่สำคัญอย่าลืมตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลให้ถี่ถ้วน เพราะหากมีการพิมพ์ออกมาแล้วจะไม่สามารถแก้ไขข้อมูลได้อีก

สุดท้ายหากไม่มีการแก้ไขอะไรแล้ว ทางนายทะเบียนก็จะพิมพ์ตัวทะเบียนสมรสและใบสำคัญการสมรสเพื่อให้ผู้ร้อง ผู้ให้ความยินยอม และพยานเซ็นต์ชื่อลงในทะเบียนสมรส สำหรับในสำคัญการสมรสนายทะเบียนจะเป็นคนเซ็นต์เอง พร้อมยื่นทะเบียนสมรสให้กับคู่สมรสคนละ 1 ฉบับ เป็นอันเสร็จสมบูรณ์

2. จดทะเบียนสมรสนอกที่ว่าการอำเภอ

หากบ่าวสาวคู่ไหนที่อยากได้ภาพบรรยากาศการจดทะเบียนสมรสสวยๆ สามารถแจ้งเจ้าหน้าที่ให้นำเอกสารไปจดทะเบียนฯ ภายในงานได้ เพียงแต่จะต้องไปติดต่อที่สำนักงานเขตหรือที่ว่าการอำเภอที่โรงแรมนั้นๆ ตั้งอยู่ รวมถึงจะต้องไปติดต่อเจ้าหน้าที่ล่วงหน้าก่อนวันงานอย่างน้อย 7 วัน เพื่อที่เจ้าหน้าที่จะได้จัดคิวไปงานของเราได้ถูก

สำหรับเอกสารที่จะต้องนำไปติดต่อ จะต้องเตรียมสำเนาบัตรประชาชนของคู่บ่าว-สาว สำเนาทะเบียนบ้านของคู่บ่าว-สาว รวมถึงสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของพยาน 2 คน โดยพยานทั้ง 2 คนจะต้องเป็นผู้ที่มาร่วมงานในวันงานด้วย

ซึ่งรายละเอียดในการทำก็เหมือนกับขั้นตอนของการจดทะเบียนที่อำเภอเกือบทุกขั้นตอน ต่างกันเพียงแค่ขั้นตอนของการเซ็นต์ชื่อรับเอกสารเท่านั้น

ค่าธรรมเนียมและเงื่อนไขข้อตกลง

การจดทะเบียนสมรส ณ สำนักทะเบียนที่จดไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียม แต่ถ้าหากจดทะเบียนสมรสนอกสำนักทะเบียนต้องเสียค่าธรรมเนียน 200 บาท พร้อมทั้งต้องจัดยานพาหนะรับ – ส่งนายทะเบียนด้วย และการจดทะเบียนสมรสนอกสำนักทะเบียนในท้องที่ห่างไกลจะต้องมีการเสียค่าธรรมเนียม 1 บาท

นี่คือขั้นตอนการจดทะเบียนสมรสทั้ง 2 แบบ สำหรับบ่าว-สาวที่ไม่เคนผ่านการจดทะเบียนสมรสมาก่อน เพราะถ้าหากเป็นหญิงหม้ายเคยผ่านการจดทะเบียนมาแล้ว จะต้องมีการตรวจสอบหลักฐานการหย่าและหากคู่สมรสตายจะต้องมีหลักฐานการตายมาแสดง รวมถึงจะต้องรอให้การสมรสครั้งก่อนสิ้นสุดไปแล้วไม่น้อยกว่า 310 วัน ถึงจะสมรสใหม่ได้ เว้นเสียแต่

  • มีการคลอดบุตรไปแล้วในระหว่างที่รอ
  • สมรสกับคู่สมรสเดิม
  • มีใบรับรองแพทย์ว่าไม่ได้ตั้งครรภ์
  • ศาลมีคำสั่งให้สมรสได้

ทั้งหมดนี้คือรายละเอียดเกี่ยวกับการจดทะเบียนสมรสทั้งหมดที่คู่รักมือควรทราบ เพื่อที่เวลาไปจดจะได้ทำอย่างถูกต้องและไม่มีข้อผิดพลาดนะจ๊ะ

ขอบคุณข้อมูลจาก : www.bora.dopa.go.th

ภาพเปิด : งานแต่งงานคุณจุ๋มและคุณเป้ โดย SmallmoonPhoto (www.smallmoonphoto.com)
ภาพงานแต่งคุณกุ๊บกิ๊บ-คุณบี้จาก : Vin Buddy’s Wedding โทร. 08-1199-1119

อ่านบทความเพิ่มเติม

5 กุญแจสำคัญทำธุรกิจกับแฟนอย่างไรไม่ให้แตกหักรักต้องร้าว

4 เรื่องเล็กน้อยแต่สำคัญมากสำหรับใช้ชีวิตคู่สู่ความรักที่ยืนยาว

https://praewwedding.com/love-and-relationships/sex-and-relationship/59596

Recommended